วันพุธที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ประเพณีสงกรานต์

           วันสงกรานต์ ถือเป็นประเพณีวันขึ้นปีใหม่ของไทยมาแต่โบราณ เป็นประเพณีที่งดงาม อ่อนโยน เอื้ออาทร และเต็มไปด้วยบรรยากาศของความกตัญญู ความสนุกสนาน ความอบอุ่น และการให้เกียรติเคารพซึ่งกันและกัน สะท้อนให้เห็นถึงลักษณะของความเป็นไทยได้อย่างเด่นชัด โดยใช้น้ำเป็นสื่อในการเชื่อมสัมพันธไมตรี

           ปัจจุบันแม้ไทยเราจะนับวันที่ 1 มกราคมของทุกปี เป็นวันขึ้นปีใหม่แบบสากลนิยม แต่ลักษณะพิเศษและกิจกรรมที่คนในชุมชนได้ถือปฏิบัติสืบเนื่องมาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะเป็นการทำบุญทำทาน การอุทิศส่วนกุศลแด่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ การสรงน้ำพระ การรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ การเล่นสาดน้ำ และการละเล่นรื่นเริงต่าง ๆ ล้วนทำให้ชาวไทยส่วนใหญ่ยังถือประเพณีสงกรานต์เป็นปีใหม่แบบไทย ๆ ที่เทศกาลแห่งความเอื้ออาทร เกื้อกูลผูกพันซึ่งกันและกัน

           ช่วงเทศกาลสงกรานต์จะตรงกับวันที่ 13, 14 และ 15 เมษายนของทุกปี ซึ่งรัฐบาลได้ประกาศให้เป็นวันหยุดราชการต่อเนื่องกัน เพื่อให้ประชาชนที่ทำงานในต่างท้องที่ได้กลับไปยังถิ่นฐานของตน เพื่อไปร่วมทำบุญ เยี่ยมเยียนญาติผู้ใหญ่ บุพการี และเล่นสนุกสนานกับครอบครัว เพื่อนฝูง
          สงกรานต์ เป็นประเพณีเก่าแก่ของไทยประเพณีหนึ่งที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยโบราณคู่กับประเพณีตรุษจีน หรือที่เรียกกันรวม ๆ ว่าประเพณีตรุษสงกรานต์ ซึ่งหมายถึงประเพณีส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ของไทย ก่อนที่จะปรับเปลี่ยนมาใช้ในวันที่ 31 ธันวาคมเป็นวันส่งท้ายปีเก่า และวันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2483 เช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก

          ในสมัยโบราณ ไทยเราถือเอาวันแรม 1 ค่ำ เดือนอ้าย เป็นวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งคนสมัยก่อนจะถือว่าฤดูเหมันต์ (ฤดูหนาว) เป็นการเริ่มต้นปี ซึ่งจะตกอยู่ราวปลายเดือนพฤศจิกายน หรือธันวาคม ต่อมาก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปตามคติพราหมณ์ ซึ่งมีรากเหง้ามาจากการสังเกตธรรมชาติ และฤดูการผลิต วันขึ้นปีใหม่จึงเปลี่ยนเป็นวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 หรือประมาณเดือนเมษายน ซึ่งเป็นการนับปีใหม่ตามเกณฑ์จุลศักราช โดยถือเอาวันมหาสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่

          ครั้นในปี พ.ศ. 2432 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ได้กำหนดให้วันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งเป็นการนับทางสุริยคติแทน จนกระทั่งปี พ.ศ. 2483 รัฐบาลไทยในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ก็ได้ประกาศให้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ อันเป็นการนับปีใหม่แบบสากลนิยม ดังนั้น ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2484 เป็นต้นมา ประเทศไทยเราจึงมีวันขึ้นปีใหม่ตรงกับวันที่ 1 มกราคม และใช้กันมาจนปัจจุบัน 
          การกำหนดนับวันสงกรานต์จึงตกอยู่ในระหว่างวันที่ 13, 14 และ 15 เมษายน ซึ่งทั้ง 3 วัน จะมีชื่อเรียกเฉพาะดังนี้ คือ
              -วันที่ 13 เมษายน เรียกว่า มหาสงกรานต์ หมายถึง วันที่ดวงอาทิตย์ก้าวขึ้นสู่ราศีเมษ อีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ผ่านการเข้าสู่ราศีอื่น ๆ แล้วจนครบ 12 เดือน
              -วันที่ 14 เมษายน เรียกว่า วันเนา หมายถึง วันที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนเข้าอยู่ราศีเมษ ประจำที่เรียบร้อยแล้ว
              -วันที่ 15 เมษายน เรียกว่า วันเถลิงศก หรือวันขึ้นศก คือวันที่เริ่มเปลี่ยนจุลศักราชใหม่ การกำหนดให้อยู่ในวันนี้นั้นเพื่อให้แน่ใจได้ว่าดวงอาทิตย์โคจรขาดจากราศีมีนขึ้นอยู่ราศีเมษแน่นอนแล้วอย่างน้อย 1 องศา

          กิจกรรมที่สมควรประพฤติปฏิบัติในวันสงกรานต์ เพื่อสืบทอดความดีงามของคุณค่าของประเพณีนี้ไว้ มีดังนี้
           -การทำบุญตักบาตรหรือนำอาหารไปถวายพระที่วัด เพื่อสืบทอดและทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และเพื่อกล่อมเกลาจิตใจให้รู้จักการให้ เสียสละ โดยมิได้มุ่งหวังสิ่งใดตอบแทน
           -การทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษ เพื่อแสดงกตัญญูต่อผู้มีพระคุณที่ล่วงลับไปแล้ว

           -การสรงน้ำพระทั้งพระภิกษุสงฆ์และพระพุทธรูป เพื่อความเป็นสิริมงคลและแสดงความเคารพต่อปูชนียบุคคลที่ดำรงสืบทอดพระพุทธศาสนา


           -การรดน้ำขอพร เป็นการแสดงความเคารพและแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณโดยเฉพาะผู้อาวุโสน้อยพึงปฏิบัตต่อผู้อาวุโสมาก เช่น ลูกกับพ่อ-แม่-ปู่-ย่า-ตา-ยาย พุทธศาสนิกชนต่อพระภิกษุสงฆ์ เป็นต้น เป็นการแสดงความสุภาพ อ่อนน้อม อ่อนโยน และขอรับพร ซึ่งผู้อาวุโสกว่าเหล่านั้นจะได้อวยชัยให้พรให้อยู่เย็นเป็นสุข และได้ข้อคิดเตือนใจเพื่อเริ่มต้นปีใหม่อย่างไม่ประมาท
           -การเล่นรดน้ำ เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างญาติพี่น้องและมิตรสหาย ด้วยการรดน้ำเพียงเล็กน้อยลงที่ไหล่ หรือที่มือพร้อมกับอวยพรให้มีความสุข
           -การเล่นรื่นเริงต่าง ๆ เพื่อเชื่อมความสามัคคีและเพื่อความสนุกสนาน รวมทั้งการสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมให้คงอยู่ต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น